top of page
  • Writer's picturephyathai7 pet care

ปัญหาโรคหัวใจในสุนัขและแมว

Updated: Mar 11, 2022

ปัญหาโรคหัวใจไม่ใช่โรคที่เกิดเฉพาะกับคนเท่านั้น โรคนี้เกิดได้ในสุนัขและแมวเช่นกัน โรคหัวใจจะส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้ลดลง ซึ่งในสัตว์ป่วยกว่า 10% ที่มาโรงพยาบาลมักพบว่ามีความผิดปกติของหัวใจ แต่สัตว์เลี้ยงอาจจะไม่ได้แสดงอาการให้เจ้าของเห็น แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรละ? ก่อนอื่นเราจะมาทำความรู้จักกับโรคหัวใจนี้กันก่อน

 


โรคหัวใจของน้องสุนัขแบ่งได้ง่ายๆเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ โรคหัวใจที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด (Congenital and inherited heart defected) และ โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired heart defected)


ความผิดปกติที่พบได้ในลูกสุนัขตั้งแต่เกิด : ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากการเจริญหรือความบกพร่องของหลอดเลือด หรือโครงสร้างต่างๆภายในที่ผิดปกติ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน, โรคลิ้นหัวใจพัลโมนิคตีบแคบ, โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบตัน, โรคหลอดเลือดรัดหลอดอาหาร, โรคผนังกั้นหัวใจรั่ว, โรคหัวใจพิการซ้ำซ้อนรวมถึงโรคลิ้นหัวใจเจริญผิดปกติ ทั้งหมดนี้ส่งผลทำให้การทำงานของหัวใจผิด ปกติส่งผลต่อระบบไหลเวียนของเลือด และอวัยวะต่างๆของร่างกาย โดยแต่ละความผิดปกติมักพบได้ในสุนัขหลายสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยง เช่น Boston terriers, German Shepherd, Irish Setter, Great Dane เป็นต้น


โรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง : จะเป็นความผิดปกติของหัวใจที่พบได้ในสุนัขที่เริ่มมีอายุเยอะ ได้แก่ โรคลิ้นหัวใจเสื่อม, โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติจากการขยายของห้องหัวใจหรือมีความหนาตัวของห้องหัวใจ ภาวะน้ำในถุงหุ้มหัวใจ โดยสุนัขที่มีพันธุ์เสี่ยงต่อ การเกิดโรคหัวใจที่เรารู้จักกันดีเช่น Cavalier King Charles Spaniel, Pomeranian,Shis Tzu, Poodle, Doberman, Boxer, Labrador เป็นต้น


ในน้องแมวมักพบปัญหา "กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ" ซึ่งเป็นโรคที่พบได้มากที่สุดในระบบหัวใจและหลอดเลือดในแมว พบได้ในหลายช่วงอายุ ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป รวมทั้งพบได้ทั้งในเพศผู้และเพศเมีย สามารถพบได้ทุกสายพันธุ์ แต่พันธุ์กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อย คือ Mainecoon และ Ragdoll โดยโรคนี้เกิดจากล้ามเนื้อหัวใจมีความผิดปกติทั้งด้านโครงสร้าง เช่น การหนาตัวของห้องหัวใจ หรือขยายขนาดของห้องหัวใจ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้การบีบตัวของหัวใจผิดปกติ


นอกจากความผิดปกติของหัวใจเองแล้วการติดเชื้อต่างๆ เช่น การอักเสบในช่องปาก ก็มีรายงานว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในหัวใจได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีพยาธิอีกชนิดที่มีแนวโน้มให้เกิดปัญหาคือ เกิดจากพยาธิชนิด Dirofilaria immitis (พยาธิหนอนหัวใจ) โดยโรคนี้มียุงเป็นพาหะนำโรค โดยโรคจะเริ่มขึ้นเมื่อสุนัขและแมวถูกยุงที่ติดเชื้อกัด เชื้อพยาธิหนอนหัวใจนี้จะเข้าไปเติบโตอยู่ภายในตัวของสุนัขและแมวจนพัฒนาตัวเองกลายไปเป็นตัวเต็มวัยและย้ายไปอาศัยอยู่ในหัวใจห้องล่างขวาและเส้นเลือดแดงในปอดของสุนัขและแมว ทำให้เกิดความผิดปกติต่อการทำงานของหัวใจตามมา


แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไร หากสัตว์เลี้ยงของเรามีปัญหาในเรื่องของหัวใจ?

อาการที่พบหากเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด จะเห็นได้ว่าลูกสุนัขเจริญเติบโตช้า แคระแกร็น นอกจากนี้อาจพบว่าสุนัขมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจเร็วและถี่ อัตราการหายใจขณะนอนหลับเร็วกว่าปกติ หากสุนัขมีภาวะหัวใจล้มเหลว มักจะพบอาการ หอบ หายใจลำบาก เป็นลมหมดสติ เยื่อเมือกม่วงคล้ำ มีอาการไอแห้งๆ หรือ ท้องกาง


ส่วนอาการที่พบในแมว บางกรณีอาจไม่แสดงอาการชัดเจน แต่หากเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว ในแมวมักแสดงอาการหอบ อ้าปากหายใจ หรือหายใจด้วยช่องท้อง (มักไม่ค่อยไอเหมือนในสุนัข) อาจพบอาการอัมพาตสองขาหลังจากภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ปลายเท้าเย็น ฝ่าเท้าซีด หรือเริ่มม่วงคล้ำได้


วิธีการวินิจฉัยโรคเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับโรคหัวใจ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทุกครั้งที่มีการตรวจร่างกายสัตวแพทย์จะทำการตรวจหัวใจโดยการใช้หูฟัง (Stethoscope) ร่วมกับการคลำชีพจร เพื่อฟังเสียงและจังหวะอัตราการเต้นของหัวใจ ว่ามีความผิดปกติและสัมพันธ์กับชีพจรหรือไม่ การเอกซ์เรย์ช่องอก เพื่อดูลักษณะหลอดเลือด โครงสร้างของหัวใจ หลอดลม รวมถึงลักษณะเนื้อปอด การวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อตรวจจังหวะ และอัตราการเต้นของหัวใจ การอัลตร้าซาวด์หัวใจ (Echocardiography) ซึ่งถือเป็นการวินิจฉัยที่สำคัญมาก เพราะสามารถดูลักษณะโครงสร้าง ประเมินประสิทธิภาพในการบีบและคลายตัวของหัวใจ ซึ่งการตรวจเช่นนี้ต้องอาศัยสัตวแพทย์ผู้ชำนาญในการตรวจ นอกจากนี้การตรวจเลือดยังจำเป็นต่อการวินิจฉัยและการรักษา เช่น ตรวจโรคพยาธิ หนอนหัวใจ ตรวจค่าการทำงานของตับและไต ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เป็นต้น



การดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคหัวใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ต้องมีการป้อนยาห้ามขาด ทำอย่างสม่ำเสมอและตรงเวลา มาตรวจติดตามอาการตามนัด มีการออกกำลังกายภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด ควบคุมอาหารและน้ำหนักให้เหมาะสม มีการดูแล สุขภาพช่องปาก และป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจอย่างสม่ำเสมอ

 

ถึงแม้โรคหัวใจในสุนัขและแมวนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงทุกตัว ซึ่งการป้องกันอาจจะทำได้ยาก หากเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือความเสื่อมตามอายุ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยให้รวดเร็วและถูกต้อง อย่าลืมพาน้องๆสัตว์เลี้ยงแสนรักของคุณมาตรวจเช็คสุขภาพกันที่ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสัตว์พญาไท 7



bottom of page