เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว อีกเดี๋ยวฝนตกแบบนี้ คนอย่างเรายังปวดหัวกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทนรับมือกับความเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ไม่ไหว แล้วน้องแมวของเราจะรับมือไหวไหมนะ
มาเช็คอาการเหล่านี้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกว่าน้องแมวเป็นหวัด ทาสแมวอย่างเราจะได้สังเกตอาการ และพาน้องมาพบคุณหมอเพื่อทำการรักษาเมื่อน้องแมวเป็นหวัดได้อย่างทันท่วงที
มีน้ำมูก คัดจมูก จาม : พบลักษณะน้ำมูกใส หรือ เขียวข้น หายใจเสียงดังขึ้น อาจเห็นน้องพยายามนำเท้าเขี่ยหรือตบจมูกตัวเอง ทั้งนี้อาการต่าง ๆ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค กรณีอาการรุนแรงอาจพบหายใจลำบากหรือ มีอาการอ้าปากหายใจร่วมด้วย
ตาแดง น้ำตาไหล หรี่ตา : อาจพบขี้ตามากขึ้น กรณีรุนแรงอาจพบเยื่อบุตาอักเสบ ตาบวมจนปิด มักพบได้บ่อยในลูกแมวที่มีอาการรุนแรง หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตา ติดเชื้อแทรกซ้อน และสูญเสียการมองเห็นได้
ทานอาหารลดลง: เนื่องจากภาวะช่องปากอักเสบ บางรายอาจพบแผลในช่องปาก เหงือกอักเสบ มีแผลที่ลิ้นหรือบางรายอาจพบน้ำลายไหลซึ่งลักษณะดังกล่าว เป็นสาเหตุทำให้น้องทานอาหารลดลงได้
ไอ เสียงแหบ : น้องอาจมีเสียงร้องที่เปลี่ยนหรือ หายไป อาจพบได้ทั้งไอแห้ง มีเสมหะหรือ มีการขากเพื่อพยายามขับเสมหะออกมาก
ข้อบวม เจ็บตามข้อต่อและกล้ามเนื้อ : ในรายที่ติดเชื้อก่อโรคที่มีความรุนแรงสูง อาจพบลักษณะการบวมบริเวณข้อต่อ บริเวณเท้าหรือ เจ็บตามเนื้อตามตัวได้
อาการอื่นๆ : ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ อาการเหล่านี้มักไม่จำเพาะต่อโรคใดโรคหนึ่ง แต่ควรให้ความสำคัญ เพราะมักเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยต่างๆ ในระยะแรก
สาเหตุหลักของโรค
โดยสาเหตุหลัก ๆ เกิดจากกลุ่มไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในแมว ที่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งสามารถพบได้ในแมวทุกวัย ความรุนแรงของโรคขึ้นกับชนิดและสายพันธุ์ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน รวมทั้งภูมิคุ้มกันของตัวแมวเอง ดังนั้นแมวเด็ก แมวที่ไม่ได้ทำวัคซีน หรือแมวที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน จึงมีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่านั่นเอง
การรักษา
หากพบอาการต่าง ๆ ข้างต้น ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และทำการรักษา โดยในกลุ่มโรคหวัดแมวนั้น ทางสัตวแพทย์จะทำการรักษาตามอาการเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่อาการมักค่อยๆดีขึ้นภายใน 7-10 วัน แต่หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ระยะเวลาป่วยอาจจะยาวนานมากขึ้น
ป้องกันดีกว่ารักษา
เจ้าของอย่างเราสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดอาการรุนแรงจากการที่แมวเป็นหวัดได้ โดยการทำวัคซีนให้น้องเหมียวของเราตั้งแต่อายุ 2 เดือน (8 สัปดาห์ขึ้นไป) และกระตุ้นซ้ำทุกปี เพื่อสร้างและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้มีความแข็งแรง หมั่นตรวจเช็คสุขภาพ จัดเตรียมอาหารโภชนาการให้มีความเหมาะสม หลีกเลี่ยงภาวะเครียด และแยกเลี้ยงหากสงสัยว่ามีแมวตัวอื่น ๆ ในบ้านป่วย
Commentaires