top of page
  • Writer's picturephyathai7 pet care

โรคติดเชื้อสำคัญในแมว


ศูนย์โรคแมว
ศูนย์โรคแมวโรงพยาบาลสัตว์พญาไท 7

สำหรับพ่อแม่แมวแล้ว สิ่งที่ควรต้องทราบในเบื้องต้นก็คือโรคติดเชื้อต่างๆ ที่อาจก่อโรคให้กับน้องแมวของเรา ศูนย์โรคแมว โรงพยาบาลสัตว์พญาไท 7 ได้รวบรวมโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในแมวมาฝากกัน

 

Panleukopenia ไข้หัดแมว

เกิดจากเชื้อพาร์โวไวรัส ทำให้แมวมีอาการไข้สูง อาเจียน ถ่ายเหลว เม็ดเลือดขาวต่ำ มีโอกาสเสียชีวิตสูงแม้ทำการรักษา


Feline Rhinotracheitis หวัดแมวจากเชื้อเฮอปีส์ไวรัส

ทำให้แมวมีอาการหวัดและแผลบนกระจกตา ติดต่อผ่านทางเดินหายใจเป็นหลัก


Calicivirus หวัดแมวจากเชื้อ Calicivirus

มักทำให้เกิดอาการหวัดและปากอักเสบ อาจแสดงอาการเพียงเล็กน้อย เช่นน้ำมูก น้ำลายไหล ไปจนถึงอาการรุนแรง ไข้สูง ไม่ทานอาหาร อวัยวะภายในอักเสบ และเสียชีวิตได้


Chlamydia Psittaci หวัดแมวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Psittaci

มักแสดงอาการคือไอ จาม มีน้ำมูก ตาอักเสบ ถ้ามีอาการรุนแรงอาจมีหายใจลำบาก เป็นไข้ร่วมด้วยได้

โดยวัคซีนหัดหวัดแมวไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ 100% แต่ลดโอกาสเกิดโรค และลดความรุนแรงของโรคได้

 

โรคเอดส์แมว (Feline Immunodeficiency Virus Infection)

โรคเอดส์แมว  เป็นโรคติดต่อจากแมวสู่แมวเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ติดต่อจากการกัดหรือข่วนกัน และสัมผัสสิ่งคัดหลั่งเป็นหลัก โดยแมวที่มีความเสี่ยงที่ติดเชื้อมาก คือ แมวตัวผู้ยังไม่ทำหมัน เลี้ยงปล่อย ซึ่งเมื่อติดเชื้อไวรัสทำลายเซลล์ภูมิคุ้มทำให้ร่างกายอ่อนแอ และติดเชื้อแทรกซ้อน (secondary infections) หรือเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infection) ได้ง่าย


อาการป่วยที่พบไม่จำเพาะต่อโรค เช่น ไข้ต่ำๆ ผิวหนังอักเสบ ช่องปากอักเสบ อาเจียน ถ่ายเหลว โลหิตจาง เหงือกอักเสบ เบื่ออาหาร ปอดติดเชื้อ กระเพาะปัจสาวะอักเสบ พฤติกรรมเปลี่ยน กระวนกระวาย  มึนงง 


แนะนำตรวจวินิจฉัยเมื่อมีการอุปการะแมวจร หรือแมวที่เคยถูกแมวจรกัด โดยสัตวแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากการตรวจเลือด ใช้ชุดตรวจในการคัดกรองโรค โดยสามารถทราบผลภายใน 15 นาที


แมวที่ติดเชื้อควรเลี้ยงในบ้าน และแยกจากแมวตัวอื่น การคัดแยกแมวสามารถป้องกันการแพร่เชื้อจากแมวที่ติดเชื้อ และป้องกันแมวที่ติดเชื้อจากการเชื้อแทรกซ้อนจากแมวตัวอื่น โดยแมวที่ติดเชื้ออาจจะไม่มีอาการผิดปกติเลย สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ 


การรักษา : แมวติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการป่วยใดใดเลย ไม่จำเป็นต้องได้รับยา หากแมวแสดงอาการป่วย รักษาตามอาการ สำหรับยาต้านไวรัสในคนยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพในการรักษาเอดส์แมว 

สัตวแพทย์อาจพิจารณาให้ยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้


การป้องกัน : ควรเลี้ยงแมวภายในบ้าน หลีกเลี่ยงการเจอแมวจรหรือแมวที่ติดเชื้อ และควรเลี้ยงแยกกันระหว่างแมวที่ติดเชื้อ และไม่ติดเชื้อ หากมีการนำแมวเข้ามาใหม่ ในสิ่งแวดล้อมที่เคยมีแมวติดเชื้ออยู่ ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาทำความสะอาด เปลี่ยนชามอาหาร ชามน้ำ ที่นอน และของเล่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ไม่ 100% และไม่ใช่วัคซีนหลักในแมว การป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ


โรคติดเชื้อลิวคีเมียในแมว

เป็นโรคไวรัสติดต่อในแมว ติดต่อโดยการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งแมวที่ติดเชื้อ  เช่น สัมผัสน้ำลายจากการเลียแต่งตัวให้กัน ใช้ชามอาหารชามน้ำร่วมกัน หรือสัมผัสปัสสาวะหรืออุจจาระของสัตว์ติดเชื้อจากการใช้กระบะทรายร่วมกัน เป็นต้น นอกจากนี้การติดต่อสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างแม่สู่ลูกในช่วงตั้งท้องหรือให้นมได้เช่นกัน


อาการมีความหลากหลาย เช่น มีไข้ ซึม เบื่ออาหารและน้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง เส้นขนหยาบ ต่อมน้ำเหลืองโต สีเหงือกซีดเนื่องจาดมีภาวะโลหิตจาง อาจติดเชื้อที่ผิวหนังและทางเดินหายใจ บางรายพบป่วยเป็นมะเร็งตามมาได้


ไวรัสเข้าสู่ร่างกายระยะแรกจะคงอยู่ในกระแสเลือด แมวที่มีระบบภูมิคุ้มที่แข็งแรงสามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ จะไม่แสดงอาการป่วยใดๆเลย แต่ถ้าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแมวไม่สามารถเอาชนะไวรัสนี้ได้ แมวก็จะติดเชื้อไวรัสอย่างถาวรและอาจจะแสดงอาการป่วยให้เห็นหรืออาจจะเสียชีวิตได้ในเวลาต่อมา


การวินิจฉัยทำได้จากประวัติ อาการ ร่วมกับการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคติดเชื้อไวรัสลิวคีเมียจากโรคโรคอื่นๆ ได้


การรักษาในปัจจุบันนั้นยังไม่มียาต้านไวรัสไวรัสลิวคีเมียหรือยาที่ทำให้แมวหายจากโรคได้ เป็นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้แมวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควรแยกเลี้ยงแมวที่ติดเชื้อจากแมวที่ปลอดเชื้อ


การป้องกันสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนได้ แต่ไม่สามารถป้องกันได้ 100% วัคซีนสามาถลดความรุนแรงของโรคได้ ก่อนการฉีดวัคซีนควรตรวจเลือดก่อนเสมอ เพราะหากติดเชื้อแล้ววัคซีนจะไม่ช่วยในแมวที่ติดเชื้อแล้วได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อและเลี้ยงแมวเฉพาะในบ้านเท่านั้น

 

bottom of page