top of page

ฮีทสโตรก (Heat stroke) ภาวะฉุกเฉิน อันตรายถึงชีวิต

  • Writer: phyathai7 pet care
    phyathai7 pet care
  • Apr 7
  • 1 min read

ฮีทสโตรกปัญหาอันตรายช่วงหน้าร้อน
ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด ปัญหาอันตรายในช่วงหน้าร้อน

ฮีทสโตรก (Heat stroke) หรือ โรคลมแดด ถือเป็นภาวะฉุกเฉินและส่งผลอันตรายถึงชีวิตของน้องหมาน้องแมวได้ เนื่องจากร่างกายมีอุณภูมิสูงเป็นระยะเวลานาน ๆ ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวของการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ ภาวะ heat stroke เกิดจากการที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป เช่น ทิ้งน้องหมาน้องแมวไว้ในรถที่ตากแดด หรือเกิดจากการออกกำลังกายที่มากจนเกินไป และไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน ซึ่งอันตรายถึงขั้นทำให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

 

ภาวะฮีทสโตรก (Heat stroke) หรือ โรคลมแดด สามารถเกิดได้ในน้องหมาน้องแมวทุกสายพันธุ์ ทุกเพศ และทุกวัย โดยสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มจะเป็น Heat stroke มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ มักเป็นน้องหมาน้องแมวที่มีลักษณะกายวิภาคในกลุ่มพันธุ์หน้าสั้น เช่น บูลด๊อก ปั๊ก ปักกิ่ง เป็นต้น น้องหมาที่มีรูปร่างอ้วน หรือน้องหมาที่มีปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงน้องหมาที่มีปัญหาการอัมพาตของกล่องเสียง น้องหมาน้องแมวที่มีขนหนา มีสีขนเข้ม ก็สามารถเกิดภาวะ Heat Stroke ได้เช่นกัน

 

เพราะหากน้องหมาน้องแมวเกิดภาวะลมแดดอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เราจึงควรมาทำความรู้จักกับโรคลมแดด หรือ Heat Stroke และการดูแลน้องหมาน้องแมวให้ถูกวิธีในหน้าร้อน เพื่อหลีกเลี่ยง และการปฐมพยาบาลน้องหมาน้องแมวอย่างถูกวิธี

 

อาการแบบนี้เข้าข่ายฮีทสโตรก (Heat stroke)

หากต้องออกไปที่ที่อากาศร้อนจัด ควรหมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของเรา หากเริ่มสังเกตเห็นอาการต่อไปนี้ในวันที่อากาศร้อนจัด อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าน้องหมากำลังเป็น Heatstroke!

  • หอบ หายใจแรง น้ำลายไหลมาก มีอุณหภูมิร่างกายสูง 104-110 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ 40-43.3 องศาเซลเซียส

  • เปิดเหงือกพบเหงือกมีสีแดงเข้ม

  • หัวใจเต้นเร็วและไม่เป็นจังหวะ หายใจติดขัด

  • อาเจียนและท้องเสียถ่ายเป็นเลือด

  • ขาดน้ำ อาจเกิดภาวะช็อก หมดสติ

  • ภาวะช็อคจะสังเกตเห็นริมฝีปากและเยื่อเมือกเป็นสีเทา ล้มลง ชัก โคม่า และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว


ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด
ระวังเมื่อต้องทิ้งน้องหมาไว้ในรถ

การปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงที่มีภาวะ Heat stroke

 

1. ย้ายน้องหมาออกจากบริเวณที่มีอากาศร้อน ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เย็นลง มีอากาศปลอดโปร่ง ร่มเงา หรือห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ

2. หากสุนัขใส่เสื้ออยู่ให้ถอดออก

3. เช็ดตัวลดไข้ ใช้น้ำอุณหภูมิปกติเช็ดตัวน้องหมา โดยเน้นบริเวณปลายเท้า ขาหนีบ และใบหู  

4. เปิดพัดลมให้น้องหมาแบบจ่อตัว เพื่อช่วยระบายความร้อน และลดอุณหภูมิในร่างกาย

5. การให้น้องหมาน้องแมวที่มีสติดื่มน้ำ โดยการดื่มน้ำจะไม่เสี่ยงต่ออาการสำลักหรืออาเจียน

6. หากน้องหมาน้องแมวเริ่มหมดสติ หรือดูหมดแรง ให้พาไปพบคุณหมอโดยด่วน โดยระหว่างการเดินทางควรวัดอุณหภูมิน้องหมาน้องแมวซ้ำเป็นระยะๆ ทำการเช็ดตัวเพื่อลดความร้อนไปด้วย


ข้อควรระวังในการปฐมพยาบาล

  • ไม่ควรใช้แข็งหรือน้ำเย็นจัดเช็ดตัว                   

  • ไม่ควรห่มผ้าให้น้องหมาน้องแมว แม้จะเห็นว่าน้องหมาน้องแมวมีอาการหนาวสั่น เพราะจะเป็นการเก็บความร้อนไว้ในร่างกาย                    

  • ห้ามให้ยาลดไข้แอสไพรินหรือพาราเซตามอลกับน้องหมาน้องแมว

 

แนวทางการป้องกันและจัดการเบื้องต้นสำหรับเจ้าของ

  • หลีกเลี่ยงความร้อน : เลี่ยงการพาน้องหมาน้องแมวไปตากแดด หรืออยู่ในที่อากาศร้อนอบอ้าว ไม่ถ่ายเท เป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น การออกไปเดินเล่นนอกบ้านช่วงสาย หรือช่วงกลางวัน

  • ระวังห้ามลืมหรือทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถหรือห้องปิดที่ไม่มีอากาศถ่ายเท

  • ตัดขน : ในสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์ที่มีขนยาวหนา อาจลองตัดขนให้สั้น เพื่อช่วยในการระบายความร้อน

  • ดื่มน้ำ : ป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยการตั้งน้ำดื่มไว้ตามจุดต่าง ๆ ในบ้านให้เพียงพอ

  • การปฐมพยาบาลเบื้องต้นถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้แก่สัตว์ป่วยได้


Comments


Commenting on this post isn't available anymore. Contact the site owner for more info.

© 2025 by PHYATHAI 7 Group Co., Ltd

line-me.png
bottom of page